Monday, May 09, 2005

"Misc" โรคเกาต์

เอามาจากเมเนเจอร์นะ
http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9480000055227

มนุษย์รู้จักโรคเกาต์มาตั้งแต่สมัยโบราณ แพทย์กรีกชื่อ Hippocrates เมื่อ 2,400 ปีก่อนนี้ ได้พบว่า เกาต์เป็นโรคปวดข้อเรื้อรังชนิดหนึ่ง ที่มักพบในผู้ชายสูงอายุยิ่งกว่าหญิง โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุมากกว่า 30 ปีขึ้นไป คือในผู้ชาย 1,000 คน จะมีคนป่วยด้วยโรคเกาต์ 2 คน

ประวัติศาสตร์การแพทย์ได้บันทึกว่า บุคคลสำคัญที่ป่วยด้วยเกาต์มีมากมาย เช่น จักรพรรดิ Alexander มหาราช, จักรพรรดิ Kublai Khan, นักฟิสิกส์ Isaac Newton, นักชีววิทยา Charles Darwin, แพทย์ William Harvey, รัฐบุรุษ Benjamin Franklin, นักประพันธ์ Guy de Maupassant และกวี Johan Wolfgang Goethe เป็นต้น

สำหรับคนที่ป่วยด้วยโรคนี้ ถ้าเป็นชนิดรุนแรงและเฉียบพลันคือไม่มีการเตือนล่วงหน้า ตามบริเวณนิ้วหัวแม่เท้า ข้อเท้า หัวเข่า ข้อนิ้ว ข้อมือ ข้อศอก หรือเท้าจะบวม และปวดจนอาจทนไม่ไหว นอกจากนี้ผู้ป่วยจะสังเกตเห็นว่าผิวหนังในบริเวณที่ปวดจะตึงออกสีแดง และร้อนบางครั้งอาการปวดจะรุนแรงมาก จนแม้แต่เวลาใครเดิน ผู้ป่วยจะรู้สึกว่าการเดินทำให้พื้นสะเทือนจนทนไม่ได้ แต่เมื่ออาการทุเลาผิวหนังที่ปวดจะคืนสู่สภาพปกติ

ตามปกติผู้ป่วยอาจจะเริ่มปวดตอนกลางคืน หรือหลังจากการดื่มแอลกอฮอล์ และเมื่อถึงเวลาเช้าอาการปวดอาจมีไข้หนาวสั่นด้วย จนทำให้รู้สึกอ่อนเพลียและเบื่ออาหาร บางครั้งอาการปวดอาจจะนานตั้งแต่ 1-6 อาทิตย์ หรือนานกว่านั้น แต่บางครั้งความเจ็บปวดก็หายเองโดยผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาใดๆ แต่แล้วอาการปวดก็อาจหวนกลับมาอีกในอีกหลายเดือนต่อมา และจะมาถี่ขึ้นๆ

สำหรับวิธีการรักษานั้น เมื่อประมาณปี พ.ศ. 1000 แพทย์กรีกชื่อ Alexander แห่งเมือง Tralles ได้พบว่า เมล็ดของต้น crocus สามารถทำให้อาการปวดเนื่องจากเกาต์บรรเทาลงได้ (ณ วันนี้นักเภสัชได้พบว่า เมล็ดและหัวของต้น crocus และใบต้นดองดึงมีตัวยาชื่อ colchicine ที่มีประสิทธิภาพในการรักษาเกาต์ได้) ตัวยานี้จึงเป็นยาที่แพทย์ใช้รักษาโรคเกาต์ตลอดเวลานานร่วม 1,400 ปีที่ผ่านมา ทั้งๆ ที่คนที่บริโภคยานี้อาจมีอาการอาเจียนปวดท้อง และท้องเสียเป็นอาการข้างเคีียง

ส่วนแพทย์ปัจจุบันก็รู้ดีว่า เกาต์เกิดจากการที่ระบบเผาผลาญพลังงานในร่างกายทำงานผิดปกติ ทำให้ร่างกายมีกรด uric ในเลือดมากเกินไป และเมื่อกรด uric มีมากเกินความจำเป็น ผลึกของกรด uric ที่ตกได้ไปสะสมที่ข้อต่อผิวหนัง ไต หรือผิวหนังทำให้บริเวณดังกล่าวมีก้อนกลมปรากฏ ซึ่งเรียกว่า tophus หรือตุ่มผลึก และตุ่มนี้ไม่เจ็บ ดังนั้น การเห็นก้อนเนื้อกลมแข็งปรากฏตามตัวผู้ป่วย แสดงให้เห็นว่า ระบบการเผาผลาญพลังงานในร่างกายของคนคนนั้น กำลังทำงานบกพร่อง

ในปี พ.ศ. 2319 Karl Wilhelm Scheeli นักเคมีชาวสวีเดนได้พบกรด uric เป็นคนแรก และในเวลาต่อมา William Wollaston นักฟิสิกส์-เคมีชาวอังกฤษ ได้วิเคราะห์ก้อนเนื้อเกาต์ และพบว่ามีเกลือของกรด uric อยู่ พออีก 50 ปีต่อมา Sir Alfred Garrod แพทย์ชาวอังกฤษได้พบว่า ระดับกรด uric ในเลือดเกี่ยวข้องโดยตรงกับโอกาสการเป็นโรคเกาต์ในคน

ณ วันนี้เรารู้แล้วว่า กระบวนการ metabolism ที่ร่างกายย่อยสลายโปรตีนจะให้ผลิตผลชนิดหนึ่งคือ กรด uric ซึ่งถ้าเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม กรด uric นี้จะถูกเปลี่ยนไปเป็น allantoin โดย enzyme ชนิด uricase ที่มีในตับ ดังนั้น ปัสสาวะของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมส่วนมากจะมี allantoin ปนอยู่ แต่ร่างกายของคนไม่มี enzyme ชนิดนี้ ดังนั้น กรด uric และสารประกอบต่างๆ ของกรดนี้ จึงยังตกค้างในร่างกาย นอกจากนี้ร่างกายยังได้กรด uric จากการผลิตเองด้วย ตามปกติแพทย์พบว่า กรด uric ในร่างกายคนมีปริมาณน้อยคือประมาณ 1 กรัม และทุกวันร่างกายจะขับกรดประมาณ 0.5 กรัม ออกมากับปัสสาวะ แต่ในร่างกายคนที่เป็นเกาต์ปริมาณกรดยูริกในเลือดจะมีมากประมาณ 20-30 เท่าของคนปกติ

อนึ่งแพทย์ยังได้สำรวจพบอีกว่า คนที่ป่วยด้วยโรคเกาต์มักเป็นโรคอื่นด้วย เช่น เบาหวาน หัวใจ ความดันโลหิตสูง ไต ไขมันในเลือดสูง นิ่วในทางเดินปัสสาวะ และโรคกระดูกพรุนด้วย ทั้งนี้เพราะกรดยูริกในเลือดมีสภาพกรด ดังนั้น มันจะทำลายกระดูกจนไม่สามารถดูดซึมแคลเซียมได้ ส่วนในคนที่ไตทำงานบกพร่อง ไตจะไม่สามารถกำจัดกรด uric ได้ดี ดังนั้น ร่างกายจึงป่วยเป็นเกาต์

ด้วยเหตุนี้ วิธีหนึ่งที่แพทย์ใช้ในการรักษาเกาต์ คือบำรุงไต หรือฟื้นฟูสภาพของไต และทำความสะอาดหลอดเลือดทั่วร่างกาย โดยการละลายไขมัน สลายลิ่มเลือด ลดระดับ triglycericle เพิ่ม cholesterol ชนิด HDL และลด cholesterol ชนิด LDL โดยการให้ดื่มน้ำวันละ 6 แก้ว ลดการบริโภคเหล้า เบียร์ กาแฟ ชา อาหารเค็ม แกงเผ็ด เครื่องในสัตว์ปีก ชะอม กระถิน แตงกวา หน่อไม้ ดอกกะหล่ำ ผักปวยเล้ง ถั่วงอก ยอดแค ดอกสะเดา สาหร่าย กุ้ง กุนเชียง ปลาซาร์ดีน ไข่แมงดา ซึ่งให้โปรตีนประเภท purine มาก และเพราะคนที่มีฐานะดีมักกินอาหารที่มีโปรตีนมาก ดังนั้น จึงเป็นเรื่องไม่แปลกที่เรามักพบว่า คนร่ำรวยมักป่วยด้วยโรคเกาต์

ในการตรวจอาการเกาต์ แพทย์ตรวจระดับกรด uric ในเลือดหรือดูดน้ำในข้อมาดู และหากพบผลึกรูปเข็มของ monosodium urate มากนั่นแสดงว่า คนคนนั้นกำลังเป็นเกาต์ และตามปกติแพทย์จะไม่รักษาโดยการผ่าตัด เพราะการผ่าจะทำให้แผลหายช้า เขาจึงนิยมใช้ยาลดขนาดของผลึกให้เล็กลงๆ และให้ยาลดระดับกรด uric พวก probenecid sulfinpyrazone, benzbromarone และ allopurimol โดยยาที่ใช้รักษาต้องเป็นยาแก้อักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (nonsteroidal anti-inflamatony drug) พวก advil และ motil เป็นต้น ข้อเสียอย่างหนึ่งของคนที่เป็นเกาต์คือ ต้องกินยาเรื่อย

ในส่วนของการดูแลตนเองนั้น คนที่เป็นเกาต์ควรบริโภคอาหารให้ครบหมู่ ลดน้ำหนัก ลดระดับไขมันในเลือด ลดอาหารพวกเครื่องใน ตับ อาหารทะเล พยายามอย่าดื่มเหล้า เบียร์ เพราะเครื่องดื่มชนิดนี้มีสาร guanosine ที่สร้างกรด uric ผู้ป่วยควรดื่มน้ำมากๆ เพื่อขับกรด uric ออกจากร่างกาย และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้เลือดหมุนเวียนในร่างกายได้อย่างเพียงพอ และต้องไปหาหมอ เพื่อรับการตรวจรักษาร่างกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้หมอหาทางป้องกันอาการข้อเสื่อม เนื่องจากมีติ่งผลึกมาเกาะตามข้อต่อซึ่งจะทำให้ข้อต่อมีรูปร่างผิดปกติ (น่าเกลียด) เพราะการรักษาที่ถูกวิธี และต่อเนื่องเท่านั้น จึงจะสามารถลดอาการอักเสบที่ทำให้ร่างกายทรมานจนเดินไม่ได้ครับ

สุทัศน์ ยกส้าน ภาคีสมาชิก ราชบัณฑิตยสถาน

No comments: